"+++Wellcome To Blogger Mookku(วิชาภาษาไทย)+++"

วันพุธที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ประวัติผู้แต่ง

            สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงประกอบพระราชกรณียกิจหลายประการ เช่น ด้านดนตรีไทย ทรงพระปรีชาสามารถในการขับร้องเพลงและทรงบรรเลงดนตรีไทยได้หลายประเภท ด้านภาษาและวรรณคดี ทรงพระราชนิพนธ์วรรณกรรมร้อยแก้ว ร้อยกรอง  และงานแปลงานพระราชนิพนธ์ที่รู้จักแพร่หลาย ได้แก่ ย่ำแดนมังกร ผีเสื้อแก้วจอมแก่น แก้วจอมซน ดั่งดวงแก้ว  เป็นต้น  ทั้งนี้ในงานพระราชนิพนธ์แต่ละเรื่อง พระองค์จะทรงใช้พระนามแฝงที่แตกต่างกันไป เช่น ก้อนหิน แว่นแก้ว หนูน้อย เป็นต้น

            นอกจากนี้ยังทรงประกอบพระราชกรณียกิจในด้านการศึกษา การพัฒนาสังคม โดยมีโครงการในพระราชดำริส่วนพระองค์หลายโครงการโดยมุ่งเน้นทางด้านการแก้ปัญหาการขาดสารอาหารของเด็กในท้องถิ่นทุรกันดารและพัฒนามาสู่การให้ความสำคัญทางด้านการศึกษาเพื่อพัฒนาบุคคลอย่างสมบูรณ์
ความเป็นมา

        บทความเรื่องทุกข์ของชาวนาในบทกวี มีที่มาจากหนังสือรวมบทพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เรื่องมณีพลอยร้อยแสง ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพิมพ์ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2533 ในวโรกาสที่พระองค์ทรงเจริญพระชนมายุครบ 3 รอบ โดยนิสิตคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  รุ่นที่ 41

        หนังสือรวมบทพระราชนิพนธ์เรื่อง มณีพลอยแสง  แบ่งเนื้อหาออกเป็น 11 หมวด ด้วยกัน คือ กลั่นแสงกรองกานท์ , เสียงพิณเสียงเลื่อน  เสียงเอื้อนเสียงขับ , เรียงร้อยถ้อยดนตรี,        ชวนคิดพิจิตรภาษา, นานาโวหาร, คำขานไพรัช, สมบัติภูมิปัญญา, ธาราความคิด, นิทิศบรรณา, สาราจากใจ และมาลัยปกิณกะ

         ในหมวด ชวนคิดพิจิตรภาษา  เป็นพระราชนิพนธ์บทความและบทอภิปรายรวม 4 เรื่อง

คือ ภาษาไทยกับคนไทย, การใช้สรรพนาม, วิจารณ์คำอธิบายเรื่องนามกิตก์ในไวยากรณ์บาลี

และทุกข์ของชาวนาในบทกวี ซึ่งเป็นบทวิจารณ์ร้อยกรองที่จะนำมาศึกษาในบทเรียนนี้
ลักษณะคำประพันธ์

            ทุกข์ของชาวนาในบทกวี เป็น บทความแสดงความคิดเห็น ซึ่งเป็นบทความที่มีจุดมุ่งหมายที่จะแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นใดประเด็นหนึ่ง  ความคิดเห็นที่นำมาเสนอได้มาจากการวิเคราะห์ การใช้วิจารณญาณไตร่ตรองของผู้เขียน โดยผ่านการสำรวจปัญหา ที่มาของเรื่อง และข้อมูลต่างๆ อย่างละเอียด ความคิดเห็นที่เสนออาจจะเป็นวิธีการแก้ไขปัญหาตามทัศนะที่มีเหตุมีผลเป็นการสร้างสรรค์ ไม่ใช่การบ่อนทำลาย ความน่าเชื่อถือของความคิดเห็นที่นำเสนอนั้นขึ้นอยู่กับการวิเคราะห์ปัญหา การใช้ปัญญาไตร่ตรองโดยปราศจากอคติ และการแสดงถึงเจตนาดีของผู้เขียนที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม
จุดมุ่งหมายในการแต่ง

    เรื่องทุกข์ของชาวนาในบทกวีนั้นมีจุดมุ่งหมายแสดงให้เห็นถึงความทุกข์ยากลำบากของชาวนา ผ่านบทกวี และเพื่อแสดงพระราชดำริเกี่ยวกับบทกวีของไทยและบทกวีของจีน ซึ่งกล่าวถึงความทุกข์ของชาวนาในบทกวี
ทุกข์ของชาวนาในบทกวี



เมื่อครั้งเป็นนิสิต ข้าพเจ้าได้เคยอ่านผลงานของ จิตร ภูมิศักดิ์ อยู่บ้าง แต่ก็ไม่ได้ศึกษาอย่างละเอียด หรือวิเคราะห์อะไร เพียงแต่ได้ยินคำเล่าลือว่า เขาเป็นคนที่ค้นคว้าวิชาการได้กว้างขวาง และลึกซึ้งถี่ถ้วน ในสมัยที่เราเรียนหนังสือกัน ได้มีผู้นำบทกวีของจิตรมาใส่ทำนองร้องกัน ฟังติดหู มาจนถึงวันนี้



เปิบข้าวทุกคราวคำ จงสูจำเป็นอาจิณ
เหงื่อกูที่สูกิน จึงก่อเกิดมาเป็นคน
ข้าวนี้น่ะมีรส ให้ชนชิมทุกชั้นชน
เบื้องหลังสิทุกข์ทน และขมขื่นจนเขียวคาว
จากแรงมาเป็นรวง ระยะทางนั้นเหยียดยาว
จากรวงเป็นเม็ดพราว ล้วนทุกข์ยากลำเค็ญเข็ญ
เหงื่อหยดสักกี่หยาด ทุกหยดหยาดล้วนยากเย็น
ปูดโปนกี่เส้นเอ็น จึงแปรรวงมาเปิบกัน
น้ำเหงื่อที่เรื่อแดง และน้ำแรงอันหลั่งริน
สายเลือดกูทั้งสิ้น ที่สูซดกำซาบฟัน

 ดูจากสรรพนามที่ใช้ว่า กู ในบทกวีนี้ แสดงว่าผู้ที่พูดคือชาวนา ชวนให้คิดว่าเรื่องจริงๆ นั้น ชาวนาจะมีโอกาสไหมที่จะ ลำเลิก กับใครๆ ว่า ถ้าไม่มีคนที่คอยเหนื่อยยากตรากตรำอย่างพวกเขา คนอื่นๆ จะเอาอะไรกิน อย่าว่าแต่การลำเลิกทวงบุญคุณเลย ความช่วยเหลือที่สังคม มีต่อคนกลุ่มนี้ ในด้านของปัจจัยในการผลิต การพยุงหรือการประกันราคา และการักษาความยุติธรรมทั้งปวง ก็ยังแทบจะเป็นไปไม่ได้ ทำให้ในหลายๆ ประเทศ ที่มีการพัฒนาเศรษฐกิจ ชาวนาต่างก็จะละทิ้งอาชีพเกษตรกรรม ไปอยู่ในภาคอุตสาหกรรมหรือการบริโภค ซึ่งทำให้ตนมีรายได้สูงกว่า หรือได้เงินเร็วกว่า แน่นอนกว่า มีสวัสดิการดีกว่า และไม่ต้องเสี่ยงมากเท่าการเป็นชาวนา บางคนที่ยังคงอยู่ในภาคเกษตรกรรม ก็มักจะนิยมเปลี่ยนพืชที่ปลูกจากธัญพืช ซึ่งมักจะได้ราคาต่ำ เพราะรัฐบาลก็มีความจำเป็น ที่จะต้องขยับขยายตัวให้อยู่ในสถานะที่ดีขึ้นได้ อาจแย่ลงเสียด้วยซ้ำ แล้วก็ไม่มีสิทธิ ที่จะอุทธรณ์ฎีกากับใคร ถึงจะมีคนแบบจิตร ที่พยายามใช้จินตนาการ
สะท้อนความในใจ ออกมาสะกิดใจ คนอื่นบ้าง แต่ปัญหาก็ยังไม่หมดไป
หลายปีมาแล้วข้าพเจ้าอ่านพบบทกวีจีนบทหนึ่ง ผู้แต่งชื่อหลี่เชิน ชาวเมืองอู่ชี มีชีวิตอยู่ ในระหว่างปี ค.ศ. ๗๗๒ ถึง ๘๔๖ สมัยราชวงศ์ถัง ท่านหลี่เชินได้บรรยายความในใจไว้ เป็นบทกวีภาษาจีน ข้าพเจ้าจะพยายามแปล ด้วยภาษาที่ขรุขระไม่เป็นวรรณศิลป์ เหมือนบทกวีของ จิตร ภูมิศักดิ์
หว่านข้าวในฤดูใบไม้ผลิ ข้าวเมล็ดหนึ่ง
จะกลายเป็นหมื่นเมล็ดในฤดูใบไม้ร่วง
รอบข้างไม่มีนาที่ไหนทิ้งว่าง
แต่ชาวนาก็ยังอดตาย
ตอนอาทิตย์เที่ยงวัน ชาวนายังพรวนดิน
เหงื่อหยดบนดินภายใต้ต้นข้าว
ใครจะรู้บ้างว่าในจานใบนั้น
ข้าวแต่ละเม็ดคือความยากแค้นแสนสาหัส

   กวีผู้นี้รับราชการมีตำแหน่งเป็นข้าราชการส่วนท้องถิ่น อยู่ในชนบท ฉะนั้นเป็นไปได้ ที่เขาจะได้เห็นความเป็นอยู่ของราษฎรชาวไร่ชาวนาในยุคนั้น และเกิดความสะเทือนใจ จึงได้บรรยาย ความรู้สึกออกเป็นบทกวีที่เขาให้ชื่อว่า ประเพณีดั้งเดิม บทกวีของหลี่เชินเรียบๆ ง่ายๆ แต่ก็แสดงความขัดแย้งชัดเจน แม้ว่าในฤดูกาลนั้น ภูมิอากาศจะอำนวยให้พืชพันธุ์ธัญญาหารบริบูรณ์ดีแต่ผลผลิตไม่ได้ตกเป็นประโยชน์ของผู้ผลิตเท่าที่ควร
เทคนิคในการเขียนของหลี่เชินกับของจิตรต่างกัน คือ หลี่เชินบรรยายภาพที่เห็น เหมือนจิตรกรวาดภาพให้คนชม ส่วนจิตรใช้วิธีเสมือนกับ นำชาวนามาบรรยาย เรื่องของตน ให้ผู้อื่นอ่านฟังด้วยตนเอง
  เวลานี้สภาพบ้านเมืองก็เปลี่ยนไป ตั้งแต่สมัยหลี่เชินเมื่อพันกว่าปี สมัยจิตร ภูมิศักดิ์ เมื่อ ๓๐ กว่าปีที่แล้ว สมัยที่ข้าพเจ้าได้เห็นเอง ก็ไม่มีอะไรแตกต่างกันนัก ฉะนั้นก่อนที่ทุกคน จะหันไปกินอาหารเม็ดเหมือนนักบินอวกาศ เรื่องความทุกข์ของชาวนา ก็คงยังจะเป็นแรงสร้างความ สะเทือนใจให้แก่กวียุคคอมพิวเตอร์สืบต่อไป

ข้อคิดที่ได้รับ

·       สะท้อนให้เห็นการดำรงชีวิตที่ทุกข์ยากของชาวนา

·       ให้รู้ซึ้งถึงการทำงานที่ลำบากของชาวนาเพื่อผลผลิต นั่นคือ ข้าว ให้คนทั้งประเทศได้รับประทาน

·       ให้เห็นถึงคุณค่าของข้าว ที่ชาวนาปลูกอย่างยากลำบาก

·       ให้เห็นถึงความทุกข์ของชาวนาแม้ว่าจะได้ผลผลิตมากเพียงใดแต่ก็ยังทำให้ชาวนาลำบากได้อยู่ดี
ความรู้เพิ่มเติม

            จิตร    ภูมิศักดิ์  เป็นนักวิชาการคนสำคัญคนหนึ่งของไทยที่มีผลงานทางวิชาการที่แปลกใหม่และลึกซึ้ง  รวมทั้งยังมีแนวคิดต่อต้านระบบเผด็จการและการใช้อำนาจกดขี่ของชนชั้นสูง  นอกจากนี้ยังมีวามเชี่ยวชาญในด้านภาษาศาสตร์ ภาษาฝรั่งเศส ภาษาบาลี ภาษาสันสกฤต และภาษาเขมรเป็นอย่างมาก  งานนิพนธ์ที่โดดเด่น ได้แก่ ภาษานิรุกติศาสตร์,  โองการแช่งน้ำและข้อคิดใหม่ในประวัติศาสตร์ไทยลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา, ข้อเท็จจริงว่าด้วย  ชนชาติขอม, ความเป็นมาของคำสยาม ไทย ลาว และขอม, ลักษณะทางสังคมของชนชาติ, โฉมหน้าศักดินาไทย และบทกวีของจิตร  ภูมิศักดิ์ ซึ่งผลงาน ๓ เรื่องหลังได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในร้อยหนังสือดีที่คนไทยควรอ่าน
วิเคราะห์วิจารณ์

·       คุณค่าด้านภาษา 

   กลวิธีในการแต่ง   ทุกข์ของชาวนาในบทกวี นับเป็นตัวอย่างอันดีของบทความที่สามารถยึดถือเป็นแบบอย่างได้ ด้วยแสดงให้เห็นแนวความคิดที่ชัดเจน ลำดับเรื่องราวเข้าใจง่าย และมีส่วนประกอบของงานเขียนประเภทบทความอย่างครบถ้วน  คือ

ส่วนนำ   กล่าวถึงบทกวีของจิตร  ภูมิศักดิ์  ที่ทรงได้ยินได้ฟังมาในอดีตมาประกอบในการเขียนบทความ

 เนื้อเรื่อง  วิจารณ์เกี่ยวกับกลวิธีการนำเสนอบทกวีของจิตร  ภูมิศักดิ์ และของหลี่เซินโดยยกเหตุผลต่างๆ และทรงทัศนะประกอบ เช่น



   ... ชวนให้คิดว่าเรื่องจริงๆ นั้น ชาวนาจะมีโอกาสไหมที่จะ ลำเลิก   กับใครๆ ว่า ถ้าไม่มีคนที่คอยเหนื่อยยากตรากตรำอย่างพวกเขา คนอื่นๆจะเอาอะไรกิน...



 ส่วนสรุป   สรุปความเพียงสั้นๆ แต่ลึกซึ้ง ด้วยการตอกย้ำเร่องความทุกข์ยากของชาวนา ไม่ว่ายุคสมัยใดก็เกิดปัญหาเช่นนี้  ดังความที่ว่า



“… ฉะนั้นก่อนที่ทุกคนจะหันไปกินอาหารเม็ดเหมือนนักบินอวกาศ  เรื่องความทุกข์ของชาวนาก็คงยังจะเป็นแรงสร้างความสะเทือนใจให้แก่กวียุคคอมพิวเตอร์สืบต่อไป…”



  สำหรับกลวิธีการอธิบายนั้นให้ความรู้เชิงวรรณคดีเปรียบเทียบแก่ผู้อ่าน  โดยทรงใช้การเปรียบเทียบวิธีการนำเสนอของบทกวีไทยและบทกวีจีน  ว่า
เทคนิคในการเขียนของหลี่เซินกับของจิตรต่างกันคือ  หลี่เซินบรรยายภาพที่เห็นเหมือนจิตรกรวาดภาพให้คนชม  ส่วนจิตรใช้วิธีเสมือนกับนำชาวนามาบรรยายเรื่องของตนให้ผู้อ่านฟังด้วยตนเอง

          บทกวีของหลี่เซินเป็นบทกวีที่เรียบง่าย  แต่แสดงความขัดแย้งกันอย่างชัดเจน  คือ แม้ว่าในฤดูการเพาะปลูก  ภูมิอากาศจะเอื้ออำนวยให้พืชพันธ์ธัญญาหารบริบูรณ์ดี  แต่ผลผลิตไม่ได้ตกเป็นของผู้ผลิต  คือชาวนาหรือเกษตรกรเท่าที่ควร  ซึ่งหลี่เซินได้บรรยายภาพที่เห็นเหมือน  จิตรวาดภาพให้คนชม  ส่วนจิตร  ภูมิศักดิ์  ใช้กลวิธีการบรรยายเสมือนว่าชาวนาเป็นผู้บรรยาย  เรื่องราวให้ผู้อ่านฟังด้วยตนเอง
        อย่างไรก็ตาม  แนวคิดของกวีทั้งสองคนคล้ายคลึงกัน  คือ  ต้องการสื่อให้ผู้อ่านได้เห็นสภาพชีวิตของชาวนาในทุกแห่งทุกสมัย  ประสบกับความทุกข์ยากไม่แตกต่างกัน

·       คุณค่าด้านสังคม
       สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  ได้ทรงเริ่มต้นด้วยการยกบทกวีของจิตร  ภูมิศักดิ์  ซึ่งแต่งด้วยกาพย์ยานี 11 จำนวน 5 บท  มีเนื้อหาเกี่ยวกับความยากลำบากของชาวนาที่ปลูกข้าวซึ่งเป็นอาหารสำคัญของคนทุกชนชั้น  พระองค์ทรงเห็นด้วยกับบทกวีนี้และยังทรงกล่าวอีกว่าเนื้อหาบทกวีของจิตร  ภูมิศักดิ์  สอดคล้องกับบทกวีของหลี่เซิน  กวีชาวจีนที่แต่งไว้ตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถัง  แสดงให้เห็นว่าสภาพชีวิตของชาวนาไม่ว่าที่แห่งใดในโลก  จะเป็นไทยหรือจีนจะสมัยใดก็ตาม  ล้วนแต่มีความยากแค้นลำเค็ญเช่นเดียวกัน
คำศัพท์

กำซาบ              หมายความว่า      ซึมเข้าไป

เขียวคาว           หมายความว่า      สีเขียวของข้าว ซึ่งน่าจะหอมสดชื่น แต่ในบทกวีกลับมีกลิ่นเหม็นคาว เพราะข้าวนี้ เกิดจากหยาดเหงื่อซึ่งแสดงถึงความทุกข์ยากและความขมขื่นของชาวนา

ธัญพืช               หมายความว่า       มาจากภาษาบาลีว่า ธญญพืช  เช่น ข้าว ข้าวสาลี ข้าวโพด  ที่ให้เมล็ดเป็นอาหารหลัก

ประกันราคา      หมายความว่า      การที่รัฐ เอกชน หรือองค์กรต่างๆ รับประกันที่จะรับซื้อผลผลิตตามราคาที่ได้กำหนดไว้ในอนาคต ไม่ว่าราคาในอนาคตจะเปลี่ยนแปลงไปก็ตาม

เปิบ                   หมายความว่า       วิธีการใช้ปลายนิ้วทั้งห้าหยิบข้าวใส่ปากตนเอง

ภาคบริการ       หมายความว่า        อาชีพที่ให้บริการผู้อื่น เช่น พนักงานในร้านอาหาร

ลำเลิก               หมายความว่า        กล่าวทวงบุญคุณ กล่าวคำตัดพ้อต่อว่า โดยยกเอาความดีที่ตนทำไว้ให้แก่อีกฝ่ายหนึ่งเพื่อให้สำนึกบุญคุณที่ตนมีอยู่กับผู้นั้น

สวัสดิการ         หมายความว่า        การให้สิ่งที่เอื้ออำนวยให้ผู้ทำงานมีชีวิตและสภาพความเป็นอยู่ที่ดีละมีความสะดวกสบาย เช่น มีสถานพยาบาล มีที่พักอาศัย จัดรถรับส่ง

สู                     หมายความว่า         สรรพนามบุรุษที่ ๒ เป็นคำโบราณ

อาจิณ              หมายความว่า         ประจำ